วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

โคลงสี่

โคลงสี่ เป็นโคลงที่กวีนิยมแต่งมากที่สุดในกระบวนโคลง สามารถจำแนกโคลงสี่ออกได้หลายประเภท ดังนี้

โคลงสี่ในจินดามณี

ในจินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี กล่าวถึงวิธีการแต่งโคลงสี่ไว้หลายชนิดด้วยกัน คือ โคลงสี่สุภาพ โคลงตรีเพชรทัณฑี โคลงจัตวาทัณฑี โคลงขับไม้ โคลงในกาพย์ห่อโคลง โคลงดั้น ฯลฯ

โคลงสี่สุภาพ
๐ ๐ ๐ เอก โท๐ x (๐ ๐)
๐ เอก ๐ ๐ xเอก โท
๐ ๐ เอก ๐ x๐ เอก (๐ ๐)
๐ เอก ๐ ๐ โทเอก โท ๐ ๐
หนึ่งบทมี 30 คำ แบ่งเป็น 4 บาท 3 บาทแรก บาทละ 7 คำ บาทที่สี่ 9 คำ แต่ละบาทแบ่งเป็น 2 วรรค วรรคแรก 5 คำ วรรคหลัง 2 คำ เว้นบาทสุดท้าย 4 คำ มีสร้อยได้ 2 แห่ง โคลงบังคับเอก 7 โท 4 ตามตำแหน่ง สัมผัสคำที่ 7 บาทแรกกับคำที่ 5 ของบาทที่สองและบาทที่สาม กับสัมผัสคำที่ 7 บาทที่สองกับคำที่ 5 บาทที่สี่ เอกโทในบาทแรกอาจสลับที่กันได้ และอนุโลมให้ใช้คำตายแทนเอกได้ ดังตัวอย่าง
๏ เสียงลือเสียงเล่าอ้างอันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใครทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับไหลลืมตื่น ฤๅพี่
สองพี่คิดเองอ้าอย่าได้ถามเผือ ๚ะ
— ลิลิตพระลอ
โคลงตรีเพชรทัณฑี
๐ ๐ ๐ เอก โท๐ x (๐ ๐)
๐ เอก x ๐ ๐เอก โท
๐ ๐ เอก ๐ x๐ เอก (๐ ๐)
๐ เอก ๐ ๐ โทเอก โท ๐ ๐
โคลงตรีเพชรทัณฑีนี้แสดงไว้แต่ตัวอย่าง แต่อาจสังเกตไว้ว่าเหมือนโคลงสี่สุภาพ แต่เลื่อนสัมผัสในบาทที่สอง จากเดิมคำที่ 5 ไปเป็นคำที่ 3 แทน ดังตัวอย่าง
๏ ปางนั้นสองราชไท้ดาบศ
สาพิมตไปมากล่าวแก้ว
ประทานราชเอารสสองราช
เวนแต่ชูชกแล้วจึ่งไท้ชมทาน ๚ะ
— (มหาชาติคำหลวง:สักกบรรพ)
ในจินดามณี ฉบับหลวงวงศาธิราชสนิท เรียกโคลงแบบนี้ว่า โคลงตรีพิธพรรณ
โคลงจัตวาทัณฑี
๐ ๐ ๐ เอก โท๐ x (๐ ๐)
๐ เอก ๐ x ๐เอก โท
๐ ๐ เอก ๐ x๐ เอก (๐ ๐)
๐ เอก ๐ ๐ โทเอก โท ๐ ๐
โคลงจัตวาทัณฑี ก็คือโคลงสี่สุภาพที่เลื่อนคำรับสัมผัสในบาที่สองจากคำที่ 5 มาเป็นคำที่ 4 นั่นเองตามตัวอย่าง
๏ โคลงหนึ่งนามแจ้งจัต-วาทัณ ฑีฤๅ
บังคับรับกันแสดงอย่างพร้อง
ขบวรแบบแยบยลผันแผกชนิด อื่นเอย
ที่สี่บทสองคล้องท่อนท้ายบทปถม ๚ะ
โคลงขับไม้
๐ ๐ ๐ ๐ โท๐ x (๐ ๐)
๐ ๐ ๐ ๐ x๐ โท
๐ ๐ ๐ ๐ x๐ ๐ (๐ ๐)
๐ ๐ ๐ ๐ โท๐ โท ๐ ๐
โคลงขับไม้ เป็นโคลงสี่สุภาพที่ไม่บังคับเอก บังคับแต่โทสี่แห่ง บาทแรกโทจะอยู่คำที่ 4 หรือ 5 ก็ได้ ให้แต่งครั้งละ 2 บท มีสัมผัสระหว่างบทด้วย ตัวอย่าง
๏ พระเกียรติรุ่งฟุ้งเฟื่องฦๅชา
ทั่วท่วนทุกทิศานอบน้อม
ทรงนามไท้เอกาทศรถ
กระษัตรมาขึ้นพร้อมบ่เว้นสักคน ๚ะ
๏ เดชพระบารมีล้นอนันต์
จักนับด้วยกัปกัลป์ฤๅได้
สมภารภูลแต่บรรพ์นาเนก
ยิ่งบำเพ็งเพิ่มไว้กราบเกล้าโมทนา ๚ะ
โคลงกระทู้
โคลงกระทู้ เป็นลักษณะพิเศษของการแต่งโคลง โดยบังคับคำขึ้นต้นแต่ละบาทของโคลงส่วนมากมักใช้แต่งกับโคลงสี่ ซึ่งกำชัย [11] ระบุว่า โคลงกระทู้คือโคลงสี่สุภาพนั่นเอง
บาทละหนึ่งคำ เรียกว่า กระทู้เดี่ยว
บาทละสองคำ เรียกว่า กระทู้คู่
บาทละสามคำ เรียกว่า กระทู้สาม
บาทละสี่คำ เรียกว่า กระทู้สี่
ลักษณะการใช้กระทู้อาจใช้คำเดียวกันทุกบาท หรือคำต่างชุดกันก็ได้ ถ้าเป็นคำเดียวกันเรียกว่า กระทู้ยืน คำที่นำมาเป็นกระทู้อาจจะมีความหมายหรือไม่ก็ได้ เช่น ทะ-ลุ่ม-ปุ่ม-ปู อาจเป็นคำคล้องจองก็ได้ เช่น หัวล้านได้หวี ตาบอดได้แว่น หรืออาจมีข้อความอื่นใดตามความประสงค์ของผู้ประพันธ์
ตัวอย่างโคลงกระทู้ ทะ-ลุ่ม-ปุ่ม-ปู
๏ ทะ แกล้วซากเกลื่อนฟื้นอยุธยา
ลุ่ม แห่งเลือดน้ำตาท่วมหล้า
ปุ่ม อิฐฝุ่นทรายสา-มารถกล่าว
ปู แผ่สัจจะกล้าป่าวฟ้าดินฟัง ๚ะ
— กระทู้พม่า
โคลงกระทู้กวีมักใช้แต่งท้ายเรื่อง เพื่อบอกจุดมุ่งหมายในการแต่งหรือชื่อผู้แต่ง นอกนั้นแต่งแทรกไว้ในวรรณกรรมเพื่อเพิ่มความไพเราะ แสดงความสามารถของผู้แต่ง นอกจากนี้กวีอาจจะดัดแปลงโคลงกระทู้ให้พิศดารตามความประสงค์ก็ได้ เช่น กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงแต่งกาพย์สุรางค์คนางค์ 28 จำนวน 5 บท แล้วนำคำในกาพย์แต่ละวรรคแยกเป็นกระทู้เดี่ยวในโคลงกระทู้ 35 บท หรือนายชิต บุรทัต แต่งวิชชุมาลาฉันท์ 4 บท แล้วนำคำในแต่ละวรรคไปแยกเป็นกระทู้เดี่ยวเป็นโคลง 32 บท 

6 ความคิดเห็น:

  1. Tioga Springs, CA - Titanium Tent Fireworks - TITIAN
    Sporium by TITIAN-TITIAN-TITIAN-TITIAN-TITIAN-TITIAN titanium hair trimmer as seen on tv The Tin Tin Tin is trekz titanium crafted with ti89 titanium calculators high quality materials from a titanium phone case traditional mining field in titanium damascus knives

    ตอบลบ