วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

โคลงสามสุภาพ

 

โคลงสามสุภาพ

 บทหนึ่งมี 19 คำ แบ่งเป็น 4 วรรค วรรคละ 5 - 5 - 5 - 4 คำตามลำดับ และอาจมีสร้อยท้ายบทได้อีก 2 คำ เช่นเดียวกับโคลงสองสุภาพ บังคับเอก 3 แห่ง โท 3 แห่ง ส่งสัมผัสเพิ่มจากโคลงสองอีกหนึ่งแห่งจากท้ายวรรคแรกไปยังวรรคที่สอง ดังตัวอย่าง

๐ ๐ ๐ ๐ ๐๐ ๐ ๐ เอก โท
๐ เอก ๐ ๐ โทเอก โท ๐ ๐ (๐ ๐)

๏ ล่วงลุด่านเจดีย์สามองค์มีแห่งหั้น
แดนต่อแดนกันนั้นเพื่อรู้ราวทาง ๚ะ
๏ ขับพลวางเข้าแหล่งแห่งอยุธเยศหล้า
แลธุลีฟุ้งฟ้ามืดคลุ้มมัวมล ยิ่งนา ๚ะ
— ลิลิตตะเลงพ่าย

โคลงสามดั้น

  บทหนึ่งมี 17 คำ แบ่งเป็น 4 วรรค วรรคละ 5 - 5 - 5 - 2 คำตามลำดับ บังคับเอก 3 แห่ง โท 3 แห่ง สัมผัสเหมือนโคลงสามสุภาพ ดังตัวอย่าง

๐ ๐ ๐ ๐ ๐๐ ๐ ๐ เอก โท
๐ เอก ๐ โท โทเอก ๐ (๐ ๐)

๏ พุทธศกสองพันปีเศษมีแปดสิบเข้า
เหตุรุ่มรุมร้อนเร้าย่ำยี ๚ะ
๏ มีเมืองทิศตกไถงคือม่านภัยมุ่งร้าย
เตลงคั่นบต้านได้เด็ดลง ๚ะ
— ผืนแผ่นไผทนี้ล้ำ แหล่งคุณ
เช่นเดียวกับโคลงสองดั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์โคลงสามดั้น โดยบังคับเอก 3 โท 2 ตำแหน่งเดียวกับโคลงสองดั้น ตัวอย่างจากลิลิตนารายณ์สิบปาง
๐ ๐ ๐ ๐ ๐๐ ๐ ๐ เอก โท
๐ ๐ ๐ เอก โทเอก ๐ (๐ ๐)

๏ มุ่งตรงสู่สรยุบรรลุถึงฝั่งใต้
เดินเลียบฝั่งนั่นไซร้ไป่นาน ๚ะ
๏ ประมาณได้โยชน์หนึ่งจึงพระดาบสเถ้า
สั่งสองโอรสเจ้าหยุดพลัน ๚ะ

การใช้โคลงสามในวรรณกรรม

  กวีไม่นิยมใช้โคลงสามแต่งวรรณกรรมตลอดเรื่อง นิยมแต่งสลับกับร่ายและโคลงชนิดอื่น ๆ รวมทั้งนิยมแต่งน้อยกว่าโคลงสองมาก อนึ่ง โคลงสามดั้นเริ่มปรากฏในวรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง มีหลักฐานอยู่ในมหาชาติคำหลวง กัณฑ์ทานกัณฑ์ ซึ่งแต่งโดย พระรัตนมุนี วัดราชสิทธาราม ในสมัยรัชกาลที่ 2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น